วันจันทร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2556

23 มี.ค. 56 "ไหว้ครูหลวงพ่อเปิ่น"

"งานไหว้ครูหลวงพ่อเปิ่น" หรือ "พระอุดมประชานาถ" อดีตเจ้าอาวาสวัดบางพระ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ที่ลูกศิษย์ขนานนามให้เป็น "เทพเจ้าแห่งลุ่มแม่น้ำนครชัยศรี" จะทำกันในวันเสาร์ของเดือนกุมภาพันธ์ หรือเดือนมีนาคม ของทุกๆ ปี โดยในปี ๒๕๕๖ นี้จะจัดในวันเสาร์ที่ ๒๓ มีนาคม เวลา ๐๙.๓๙ น. คืนก่อนวันงาน (คืนวันที่ ๒ มี.ค.) จะมีการสักยันต์กันตลอดทั้งคืน ลูกศิษย์ที่ไปเปิดสำนักอยู่ต่างทั้งที่เป็นสงฆ์และฆราวาสจะมาช่วยสักยันต์ กว่า ๑๐ รูปต่อคน

สาเหตุที่ทำพิธีกันในวันเสาร์ บูรพาจารย์กล่าวไว้ว่า วันเสาร์เป็นวันที่แข็งที่สุด พิธีการอันใดที่วัดจัดขึ้นในวันนี้ จะมีกฤตยานุภาพเข้มแข็งมาก วันบูชาครูเป็นวันที่เสมือนหนึ่งเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีน้อมระลึกเคารพนับถือบุญคุณของบูรพาจารย์ ครูบาอาจารย์ คณาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ วิชาไสยเวท คาถาอาคม คัมภีร์ต่างๆ ให้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ตั้งมั่นกระทำแต่ความดี

อย่างไรก็ตาม แม้ หลวงพ่อเปิ่น จะมรณภาพไปแล้ว ๑๑ ปี (เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๕ เวลา ๑๐.๕๕ น. อายุ ๗๙ ปี พรรษา ๕๔) แต่พระสงฆ์ที่เป็นลูกศิษย์ยังคงสืบทอดการสักยันต์ตามตำราของหลวงพ่อเปิ่นไว้อย่างสมบูรณ์ ลานโล่งด้านหน้ารูปหล่อหลวงพ่อเปิ่น เบียดเสียดยัดเยียด นำพานดอกไม้มาบูชาครู 


ส่วนภายในวงสายสิญจน์ ผู้คนนั่งเบียดเสียดแออัดกันเต็มสนามรอบสายสิญจน์ที่ดูแคบไปถนัดตา มองนอกวงสายสิญจน์ ผู้คนมามุงแออัดทั้ง ๔ ด้าน ต่างรอคอยด้วยใจอันจดจ่อต่อพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์

ครั้นได้ฤกษ์พิธีเริ่มขึ้นเวลา ๐๙.๓๙ น. พระครูอนุกูลพิศาลกิจ หรือ หลวงพ่อสำอาง เจ้าอาวาสวัดบางพระ ท่านจะเดินผ่านหมู่ลูกศิษย์ที่พนมมือกราบไหว้ตลอดระยะทาง จนขึ้นสู่ปะรำพิธี หมู่ลูกศิษย์ที่อยู่ในวงสายสิญจน์ บางคนก็เกิดอาการที่เรียกว่า "ของขึ้น" คนที่ของขึ้นส่วนใหญ่มักเกิดแก่คนที่มีความเลื่อมใส จิตใจตั้งมั่นยึดมั่นในครูบาอาจารย์ อ่อนไหวง่าย เมื่อหลับตาระลึกถึงครูบาอาจารย์ท่าน พวกที่สักอักขระที่เป็นรูปลักษณ์ต่างๆ เช่น สักรูปเสือเผ่น ก็กางเล็บกระโดดโจนทะยานวิ่งเข้าหาหลวงพ่อหน้าปะรำพิธี

หลวงพี่ญา บอกว่า แม้ท่านจะมรณภาพมาแล้ว ๑๑ ปี แต่ลูกศิษย์ยังเหนียวแน่นอยู่ ยันต์ที่ได้รับความนิยมเป็นทั้งยันต์ที่ขึ้นชื่อด้านเมตตามหานิยม และคงกระพันชาตรี โดยเฉพาะยันต์ครูของสำนักวัดบางพระคือ ยันต์ ๙ ยอด ๘ ทิศ ยันต์งบน้ำอ้อย ยันต์เกาะเพชร ยันต์พุดซ้อน ส่วนรูปสัตว์นั้น เสือเผ่น ถือว่าได้ความนิยมสูงสุด ที่รองลงมาคือ หนุมานออกศึก ยันต์หนุมานอมเมือง ส่วนยันต์อื่นๆ ที่ได้รับความนิยมสักลดลงตามลำดับ คือ ยันต์หอมเชียง (พระพุทธ ๑๐๘ ) ยันต์สายสังวาลย์ ยันต์พ่อแก่ฤาษี ยันต์แม่ทัพ ยันต์ดำดื้อ ยันแดงดื้อ ยันต์เสือเผ่น ยันต์มงกุฎพระพุทธเจ้า (หมวกเหล็ก) ยันต์นกสาลิกา ยันต์จิ้งจกสองหาง ยันต์องค์พระพุทธ ยันต์ราชสีห์ ยันต์เกราะเพชร ยันต์หมูทองแดง ยันต์ปลาไหล ยันต์ดอกบัว ยันต์พระราหู ยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ยันต์ลิงลม ยันต์พระเจ้าสิบหกพระองค์ ยันต์พญาหงษ์ ยันต์ไตรสรณาคมน์ ยันต์หัวใจต่างๆ เป็นต้น

*************************

ข่าวโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น