วันพุธที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2556

หลวงพ่อชุบ ศิษย์สายหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า

"พระครูอดุลพิริยานุวัตร" หรือ หลวงพ่อชุบ ปญฺญาวุโธ เจ้าอาวาสวัดวังกระแจะ ต.วังกระแจะ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี เป็นพระเกจิอาจารย์ ผู้สืบทอดสรรพวิชาสาย หลวงพ่อศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จากฆราวาสจอมขมังเวทย์ อาจารย์รื่น นิลแนบแก้ว ซึ่งท่านเป็นพระสหาย กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ณ สำนัก วัดปากคลองมะขามเฒ่า หลวงพ่อชุบ ได้สืบทอดวิชาการสักยันต์ เมตตา แคล้วคลาด คงกะพัน และมหาอุตม์ พระคาถาต่างๆ และสรรพวิชาการทำตะกรุด และเครื่องรางของขลัง อีกทั้งยังสืบทอดวิชาสาย หลวงพ่อคง วัดบางกระพร้อม จาก พระมหาสิทธิการทอง วัดเพชรสมุทร จ.สมุทรสงคราม ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อครั้งจำพรรษา อยู่ที่วัดเพชรสมุทร (วัดบ้านแหลม)

หลวงพ่อชุบ ท่านเกิดวันศุกร์ ที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ.๒๔๖๙ ตรงกับ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๔ ปีขาล โยมบิดาชื่อนายปลื้ม ถินนาก โยมมารดาชื่อนางช่วง ถินนาก ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดาทั้งหมด ๕ คน มีพี่สาวต่างมารดา ๑ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๔ มีพี่สาว ๓ คน น้องชาย ๑ คน



ในวัยเยาว์ท่านมีความสามารถด้านศิลปะวาดเขียน มากกว่าเด็กอื่นๆ ในวัยเดียวกัน ในช่วงวัยรุ่นท่านได้ฝากตัวเป็นศิษย์และได้รับการถ่ายทอดวิชาการสักยันต์และวิชาอาคมต่างๆ จาก อาจารย์รื่น นิลแนบแก้ว เมื่อครั้งที่อาจารย์รื่นท่านเปิดสำนักสักยันต์ที่ อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม อาจารย์รื่น ท่านเป็นศิษย์ของหลวงพ่อศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า พระเกจิอาจารย์ชื่อดังของเมืองไทย และอาจารย์รื่นท่านยังเป็นพระสหายกับกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๑ ท่านอุปสมบท ณ วัดคู้สนามจันทร์ ต.บ้านปรก อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม โดยมี หลวงพ่อกลึง ธมฺมโชติ วัดสวนแก้ว เป็นพระอุปัชฌาย์ จำพรรษาอยู่วัดคู้สนามจันทร์ได้ ๔ พรรษา ท่านจึงได้ย้ายไปจำพรรษา และศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดเพชรสมุทร และยังได้ศึกษาสรรพวิชาเพิ่มเติมจาก พระมหาสิทธิการทอง วัดเพชรสมุทรด้วย โดยพระมหาสิทธิการทอง นั้นท่านเป็นศิษย์ หลวงพ่อคง วัดบางกระพ้อม

หลังจากหลวงพ่อชุบได้ศึกษาสรรพวิชาอาคมต่างๆ จนจบแล้ว หลวงพ่อชุบได้เริ่มเดินธุดงค์ไปยังจังหวัดต่างๆ เช่น นครศรีธรรมราช ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี และกาญจนบุรี

พ.ศ.๒๕๐๕ ท่านได้เดินธุดงค์มาที่ จ.กาญจนบุรีและได้เดินทางจนมาถึงถ้ำละว้า ได้มีญาติโยมที่อาศัยอยู่ที่วังกระแจะได้นิมนต์ให้ท่านมาพักที่บ้านวังกระแจะและสร้างกุฏิให้อยู่เป็นไม้ไผ่มุงแฝก ๑ หลัง หลังจากนั้นได้สร้างกุฏิไม้แบบถาวรให้ ๑ หลัง

พ.ศ.๒๕๑๑ได้รับเป็นวัดที่บำเพ็ญกุศลของชาวบ้าน

พ.ศ.๒๕๑๔ ได้รับพระราชทานเป็นวิสุงคามสีมา

พ.ศ.๒๕๓๓ ได้ทำพิธีผูกพัทธสีมาอุโบสถ

หลวงพ่อชุบท่านได้รับตำแหน่งงานปกครองดังนี้ พ.ศ.๑๕๑๓ เป็นเจ้าอาวาสวัดวังกระแจะ ต.วังกระแจะ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี พ.ศ.๒๕๑๗ เป็นเจ้าคณะตำบล ท่าทุ่งนาและต่อมาได้ย้ายมาเป็นเจ้าคณะตำบลวังกระแจะ พ.ศ.๒๕๒๒ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ และ พ.ศ.๒๕๒๖ เป็นรองเจ้าคณะอำเภอไทรโยค

เมื่ออายุครบ ๘๐ ปี พ.ศ.๒๕๔๙ ท่านเกษียณจากตำแหน่งรองเจ้าคณะอำเภอไทรโยค และได้รับแต่งตั้งเป็น ที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอไทรโยค โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการมหาเถรสมาคม อันมี สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศฯ ผู้ทำหน้าที่เป็นประธานในตำแหน่งปฏิบัติงานแทน สมเด็จพระสังฆราชฯ เป็นผู้รับรองการแต่งตั้ง เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๙

หลวงพ่อชุบได้รับการแต่งตั้งจากคณะสงฆ์จังหวัดกาญจนบุรีให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ดังนี้

พ.ศ.๒๕๑๓ ได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดวังกระแจะ และเป็นเจ้าสำนักเรียนประจำสำนักเรียนวัดวังกระแจะ

พ.ศ.๒๕๑๗ ได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งเจ้าคณะตำบลท่าทุ่งนา

พ.ศ.๒๕๑๗ ได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งเจ้าคณะตำบลวังกระแจะ

พ.ศ.๒๕๒๐ ได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งพระอุปัชฌาย์

พ.ศ.๒๕๒๔ ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระธรรมทูตเผยแพร่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ (อินเดีย) พ.ศ.๒๕๒๖ ได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งรองเจ้าคณะอำเภอไทรโยค

พ.ศ.๒๕๔๙ ได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอไทรโยค

เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๙ หลวงพ่อชุบได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ชั้นเอกในพระราชทินนามว่า “พระครูอดุลพิริยานุวัตร” ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอไทรโยค และเจ้าอาวาสวัดวังกระแจะ และทางวัดได้จัดงานฉลองอายุวัฒนมงคล ๘๖ ปี พระครูอดุลพิริยานุวัตร (หลวงพ่อชุบ ปญฺญาวุโธ) อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา

สำหรับพุทธคุณวัตถุมงคลของหลวงพ่อชุบนั้น เป็นที่รู้กันดีในหมู่ลูกศิษย์โดยเฉพาะชาวอำเภอไทรโยค จะรู้ดีว่าหลวงพ่อมีของดี ทั้งสักและพระวัตถุมงคล เป็นที่รู้กันว่าคงกระพัน

ตำนานการสร้างวัดวังกระแจะ

วัดวังกระแจะ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๑๔ ไร่ ๔๘ ตารางวา เดิมเป็นที่พักสงฆ์ชั่วคราวของพระธุดงค์ทั่วไป ในราวปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ชาวบ้านได้มีมติให้ตั้งเป็นวัดของหมู่บ้าน เพื่อสะดวกในการจัดพิธีกรรมทางศาสนา เริ่มจากการที่ชาวบ้านช่วยกันปรับพื้นที่เพื่อสร้างกุฏิไม้หลังเล็กๆ หลังคามุงจาก ให้พระธุดงค์อยู่จำพรรษา แต่ปรากฏว่าบางปีก็หาพระสงฆ์อยู่จำพรรษาไม่ได้

ล่วงถึงพ.ศ. ๒๕๐๕ ได้มีพระธุดงค์ที่มีวัตรปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเคร่งครัดในพระธรรมวินัยเป็นที่ศรัทธาของชาวบ้านได้เดินธุดงค์มาปฏิบัติธรรม ณ ถ้ำละว้า ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันนิมนต์ท่านช่วยสร้าง วัดที่หมู่บ้านพระธุดงค์ที่ชาวบ้านนิมนต์ก็คือ หลวงพ่อชุบ ปัญญาวุโธ

หลังจากรับนิมนต์จากชาวบ้านให้มาสร้างวัดที่หมู่บ้านแล้ว หลวงพ่อชุบ ก็เริ่มพัฒนาปรับพื้นที่สร้างกุฏิสงฆ์ สร้างเสนาสนะต่างๆ จนถึง พ.ศ. ๒๕๑๑ ได้รับอนุญาตจากกรมการศาสนาให้สร้างวัดได้ และได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัด จากนั้นคณะปกครองสงฆ์จังหวัดกาญจนบุรีได้มีหนังสือแต่งตั้งให้หลวงพ่อชุบเป็นเจ้าอาวาสวัดวังกระแจะ รูปแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ ต่อมาได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ เป็นวัดที่ถูกต้องสมบูรณ์ พ.ศ. ๒๕๓๓ ทางวัดได้จัดพิธีผูกพันธสีมาฝังลูกนิมิต

อย่างไรก็ตามเมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ได้รับพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชให้เป็นผู้แทนพระองค์ เป็นประธานประกอบพิธีประทานพระบรมสารีริกธาตุ แก่หลวงพ่อชุบ เพื่ออัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดวังกระแจะ ทางวัดจึงมีโครงการจัดสร้างเจดีย์เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น