วันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2556

ชี้แจงกรณี "พระพุทธเจ้าน้อย"


ภายหลังเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กรณี การจัดสร้าง พระพุทธเจ้าน้อย หรือ “พระโพธิสัตว์สิทธัตถะราชกุมาร” ว่าอาจจะเข้าข่ายสร้างความเข้าใจผิด และผิดเพี้ยนไปจากพุทธประวัติที่ถูกต้องนั้น ล่าสุด คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ในฐานะแกนนำในการจัดสร้าง พระพุทธเจ้าน้อย เพื่อนำไปประดิษฐาน ณ ลุมพินีสถาน ประเทศเนปาล สถานที่ประสูติจากพระครรภ์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยมีใจความดังนี้

ตามที่มีผู้แสดงความเห็นด้วยกับการสร้าง “พระพุทธเจ้าน้อย” หรือ “พระโพธิสัตว์สิทธัตถะราชกุมาร” เพื่อนำไปประดิษฐาน ณ ลุมพินีสถาน ประเทศเนปาล สถานที่ประสูติจากพระครรภ์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ในนามของคณะกรรมการโครงการบูรณปฏิสังขรณ์สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ขอขอบคุณในคำท้วงติงต่างๆ และใคร่ขอเรียนชี้แจงให้ทราบถึงเหตุผลความเป็นมาของโครงการจัดสร้าง “พระพุทธเจ้าน้อย” เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นดังนี้

รูปแทนของ “พระมหาโพธิสัตว์สิทธัตถะราชกุมาร” นี้ มีการสร้างกันมานานแล้วในหลายประเทศ โดยจะพบเห็นได้ทั่วไปทั้งในประเทศเนปาล อินเดีย จีน ไต้หวัน หรือแม้แต่วัดบางแห่งในประเทศไทย เช่น วัดอโศการาม และ วัดสระเกศ เป็นต้น เพียงแต่ในประเทศไทยยังไม่นิยมสร้างกันแพร่หลายเหมือนพระพุทธรูปปางอื่นๆ คนไทยจึงไม่ค่อยรู้จัก เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ วัดพระธาตุหริภุญชัย ก็เพิ่งขุดพโดยกรมศิลปกร ได้ตรวจสอบว่ามีอายุกว่า 1,000 ปี

แต่ถ้าหากใครไปสักการะสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าที่ลุมพินีสถาน ประเทศเนปาล เมื่อเข้าสู่เมือง BHAJRAHAWA ซึ่งเป็นที่ตั้งของลุมพินีสถาน ก็จะเห็นพระมหาโพธิสัตว์สิทธัตถะราชกุมารนี้ ประดิษฐานอยู่ที่วงเวียนกลางเมือง BHAJRAHAWA โดยฝรั่งมักจะเรียกกันติดปากว่า “BABY BUDDHA” ซึ่งเมื่อแปลเป็นภาษาไทยก็คือ “พระพุทธเจ้าน้อย” นั่นเอง การใช้คำว่า จัดสร้าง “พระพุทธเจ้าน้อย” แทนคำว่า การจัดสร้าง “พระมหาโพธิสัตว์สิทธัตถะราชกุมาร” ซึ่งเรียกยาก ในแง่หนึ่งจึงอาจถูกมองได้ว่าเป็นเรื่องของประชาสัมพันธ์เพื่อให้ผู้คนจดจำชื่อได้ง่าย แต่ชื่อก็เป็นเพียงสมมติสัจจะที่ใช้เรียกขานกันเท่านั้น สิ่งสำคัญยิ่งกว่าที่น่าจะคำนึงถึงก็คือ คุณค่าและแก่นสารความหมายของการจัดสร้าง “พระพุทธเจ้าน้อย” เพื่อนำไปประดิษฐาน ณ สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า

โครงการบูรณปฏิสังขรณ์สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 โดยได้รับพระเมตตาจาก สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เป็นประธานที่ปรึกษาฝ่ายสงฆ์ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เป็นประธานที่ปรึกษาฝ่ายฆารวาส และคุณ หญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นประธานคณะกรรมการดำเนินงานโครงการ 

การที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยได้รับโอกาสให้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพบูรณะปฏิสังขรณ์สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ณ ลุมพินีสถาน ประเทศเนปาลนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย เพราะก่อนหน้านี้ มีชาวพุทธจากหลายประเทศพยายามจะขออนุญาตบูรณะปฏิสังขรณ์สถานที่แห่งนี้ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากสถานที่ดังกล่าวได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก การจะไปบูรณะอะไรต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการ กองทุนพัฒนาลุมพินี (Lumbini Development Trust) และ คณะกรรมการมรดกโลก ก่อน 

การได้รับอนุญาตให้สามารถบูรณะปฏิสังขรณ์ลุมพินีสถาน ประเทศเนปาล ของพุทธศาสนิกชนชาวไทยครั้งนี้ จึงเท่ากับเป็นการได้รับโอกาสให้บูรณะปฏิสังขรณ์สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าเป็นครั้งประวัติศาสตร์ ถัดจากการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งแรกในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชเมื่อประมาณปี พ.ศ.236 และการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งที่สอง โดยองค์การสหประชาชาติ ภายใต้การผลักดันของ ฯพณฯ อูถั่น ชาวพุทธพม่า ซึ่งเป็นเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เมื่อปี พ.ศ.2513 เพื่อเฉลิมฉลองพุทธศตวรรษที่ 25 (อันเชื่อกันว่า เป็นยุคกึ่งพุทธกาลของพระพุทธศาสนา)

เมื่อครั้งที่ พระเจ้าอโศกมหาราช เสด็จมา ณ ลุมพินี และทำการบูรณะปฏิสังขรณ์สถานที่แห่งนี้ พระองค์ได้รับสั่งให้สร้าง “เสาหินอโศก” ไว้เป็นอนุสรณ์ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการมาบูรณะสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ประกอบกับคณะกรรมการบูรณปฏิสังขรณ์ฯ ได้รับคำขอจากกรรมการกองทุนลุมพินีแห่งประเทศเนปาล ว่าน่าจะสร้าง “BABY BUDDHA” ที่เป็นองค์สมบูรณ์มาประดิษฐานตรงทางเข้าสู่วิหารมายาเทวี ดิฉันจึงเห็นเป็นโอกาสอันดีที่จะอาศัยกิจกรรมนี้ชักชวนคนไทยทุกฝ่าย ให้หันมาร่วมกันทำกิจกรรมที่เป็นบุญกุศลนี้ โดยการบูชาแผ่นทองคนละเล็กละน้อยตามกำลัง แล้วนำแผ่นทองมาหลอมรวมเป็นองค์พระพุทธเจ้าน้อย เพื่อนำไปประดิษฐานที่ลุมพินี ให้เป็นสัญลักษณ์แห่งการมาบูรณะสถานที่แห่งนี้เช่นเดียวกับ “เสาหินอโศก”

ทั้งนี้ โครงการบูรณะปฏิสังขรณ์สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้ามีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อต้องการทำถวายเป็นพุทธบูชาเนื่องในวโรกาสเฉลิมฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปี แห่งการตรัสรู้ธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประการหนึ่ง และเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสปีมหามงคลที่ทรงเจริญพระชนมายุ 7 รอบ 84 พรรษา ตลอดจนถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสปีมหามงคลที่ทรงเจริญพระชนมายุ 80 พรรษา อีกประการหนึ่ง ซึ่งบังเอิญมาบรรจบพร้อมกันพอดีในช่วงเวลาแห่งการบูรณะปฏิสังขรณ์ลุมพินีสถาน เป็นครั้งประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนานี้

ในขณะที่การบูรณะปฏิสังขรณ์สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าครั้งแรก “เสาหินอโศก” ได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการเสด็จมาบูรณะปฏิสังขรณ์ลุมพินีสถานของ “พระเจ้าอโศกมหาราช” เมื่อ 2,300 กว่าปีก่อนให้อนุชนรุ่นหลังได้ระลึกถึง ฉะนั้น คณะกรรมการฯ จึงคิดว่า “พระพุทธเจ้าน้อย” หรือ “พระโพธิสัตว์สิทธัตถะราชกุมาร” ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ ลุมพินีสถาน ประเทศเนปาล ก็น่าจะกลายเป็นสัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ (เช่นเดียวกับเสาหินอโศก) ให้ชาวพุทธทั่วโลกที่เดินทางมาสักการะสังเวชนียสถานแห่งนี้ ได้รับรู้ถึงการหลอมรวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนชาวไทยเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ของชาวไทย ซึ่งพระองค์ทรงเป็นองค์เอกอัครพุทธศาสนูปถัมภก เป็นพุทธมามกะ ตลอดจนเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมและจักกวัตติวัตร จนทรงเป็น “ธรรมราชา” ที่พสกนิกรชาวไทยให้ความเคารพรักอย่างสูงสุด เพื่อเป็น “กายสักขีของหลักพุทธรรม” ดังนั้น แห่งจักกวัตติสูตร ฑีฆนิกาย ปาฏิกวรรคที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเล่าถึงเรื่องราวของพระราชาจักรพรรดิ ซึ่งเมื่อทรงตั้งมั่นอยู่ในจักกวัตติวัตรอันประเสริฐแล้ว ก็จักส่งผลให้ทรงมีพระราชอำนาจโดยธรรม (อันเกิดจากความเคารพรักของประชาชน) ที่มีอานุภาพประดุจจักรแก้วอันเป็นทิพย์บังเกิดขึ้น สัจจะความจริงแห่งหลักพุทธรรมข้อนี้ ชาวพุทธจากทั่วโลกที่เดินทางมาสักการะสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าจะได้เห็นผ่านทางสัญลักษณ์ขององค์ “พระพุทธเจ้าน้อย” ที่คนไทยร่วมกันจัดสร้างขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่เหนือเกล้าทั้ง 2 พระองค์ ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าดังกล่าว

นอกจากนี้ “พระพุทธเจ้าน้อย” หรือ “พระมหาโพธิสัตว์สิทธัตถะราชกุมาร” ยังเป็นสัญลักษณ์ที่มีแก่นสารความหมายแฝงอยู่ภายในตัวเอง เพราะเป็นรูปแทนของเจ้าชายสิทธัตถะเมื่อครั้งประสูติจากพระครรภ์มารดา โดยทรงมีสติระลึกทบทวนถึง “เป้าหมายของชีวิต” ที่อุบัติมาเป็นมนุษย์ในชาติสุดท้ายนั้น แล้วประทับยืนยกพระหัตถ์ขวานิ้วชี้ชี้ขึ้นฟ้า พระหัตถ์ซ้ายนิ้วชี้ชี้ลงดิน กล่าวเปล่งอาสภิวาจา ประกาศความมุ่งมั่น หรือ “สัจจาอธิษฐาน” ที่จักทรงบำเพ็ญให้เข้าถึงความประเสริฐสูงสุดแห่งความเป็นมนุษย์ในโลก ซึ่งก็คือ การบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณให้จงได้ในชีวิตที่ได้เกิดมาเป็นชาติสุดท้ายดังกล่าว

คณะกรรมการบูรณปฏิสังขรณ์สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า จึงเห็นว่า “พระพุทธเจ้าน้อย” น่าจะเป็นสิ่งเตือนสติให้เราแต่ละคน ได้หันกลับมาทบทวนถึงจุดหมายชีวิตตัวเองว่า “เกิดมาทำไม” และ “อะไรคือเป้าหมายอันประเสริฐที่ควรจะไปให้ถึงในชีวิตนี้” แล้วตั้งสัจจะอธิษฐานที่จักประพฤติปฏิบัติกุศลธรรมต่างๆ เพื่อเป็น “เหตุ” นำไปสู่เป้าหมายของ “ผลที่ดี” ดังกล่าว ในแง่นี้ “พระพุทธเจ้าน้อย” ก็จะเป็นสัญลักษณ์ของ “การเกิดหรือการตั้งต้น” ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเตือนให้คนไทยหันมาทบทวนตัวเองแล้ว “ตั้งต้นใหม่” ในการทำสิ่งดีๆ เพื่ออนาคตของชีวิตแต่ละคน “ตั้งต้นใหม่” ในการทำสิ่งดีๆ เพื่ออนาคตของครอบครัวที่ร่มเย็นเป็นสุข สุดท้ายก็จะนำไปสู่การ “ตั้งต้นใหม่” ทำสิ่งดีๆ เพื่ออนาคตของประเทศไทย ท่ามกลางความหวาดระแวงและความขัดแย้งแตกแยกในบ้านเมืองทุกวันนี้
*************************

ข่าวโดย : ไทยรัฐออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น