วันพุธที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2555

“พระปรก 9 เศียร” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ คู่บุญบารมีวัดไผ่ล้อม จ. นครปฐม


พระเดชพระคุณ พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ (หลวงพี่น้ำฝน) ทายาทศิษย์เอกหลวงพ่อพูล อัตตะรักโข สุดยอดพระอมตะเถราจารย์ ประธานมูลนิธิหลวงพ่อพูล หัวหน้าพระวินยาธิการจังหวัดนครปฐม เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม

ท่านได้ดำเนินการสร้าง "พระปรก 9 เศียร" เพื่อร่วมเฉลิมฉลอง 2600 ปีพุทธชยันตี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า นำประดิษฐานประจำไว้ที่วัดไผ่ล้อม

โดยศิษยานยุศิษย์ในพระเดชพระคุณหลวงพ่อพูล ได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพใหญ่ และทำพิธีเททองในการสร้างพระปรก 9 เศียร ครั้งนี้ กล่าวสำหรับพระที่สร้างเป็นพระพุทธรูปประธานปางนาคปรก 9 เศียร สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ขนาดหน้าตัก 29 นิ้ว เมื่อวันศุกร์ที่ 20 กรกฏาคม พ.ศ. 2555 ซึ่งหล่อเสร็จสมบูรณ์แล้ว นำไปให้ช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ทำการตบแต่งงดงามตามแบบพุทธศิลป์ไทย

จากนั้นได้ทำพิธีพุทธาภิเษก เมื่อวันเสาร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2555 
โดยมีหลวงพูล หลวงพี่น้ำฝน วัดไผ่ล้อม จ.นครปฐม 
หลวงพ่อสิริ วัดตาล จ.นนทบุรี 
หลวงพ่อเปีย วัดหลวงพ่อสด จ.ราชบุรี 
หลวงปู่นาม วัดน้อยชมพู่ จ.สุพรรณบุรี 
หลวงพ่อนวย วัดเสนาสนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา อธิษฐานจิตปลุกเสก 

จากนั้นได้นำมาประดิษฐานไว้ ณ สวนอายุวัฒนะมงคล 90 ปี หลวงพ่อพูล วัดไผ่ล้อม ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม

พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หลวงพี่น้ำฝน ท่านได้เปิดเผยว่า อาตมาพร้อมศิษยานุศิษย์พระเดชพระคุณหลวงพ่อพูล ตั้งใจว่าจะสร้างพระพุทธปรก 9 เศียร เพื่อฉลอง 2600 ปีพุทธชยันตี และเพื่อเป็นพระประธานในสวนอายุวัฒนะมงคล 90 ปี หลวงพ่อพูล จึงได้ตัดสินใจสร้างพระประธานไว้ให้วัดไผ่ล้อมของเราทุกคน และที่สำคัญเพื่อให้ญาติโยมทั่วประเทศที่เดินทางมาท่องแดนธรรมวัดไผ่ล้อม ได้สักการบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคลเพื่อสร้างขวัญกำลังใจ และเป็นการสร้างกุศลผลบุญ สืบทอดพระพุทธศาสนาต่อไป

สำหรับพระพุทธนาคปรก ปางนี้ มีบันทึกไว้ว่า ในต้นสัปดาห์ที่ 6 หลังจากทรงตรัสรู้ พระพุทธองค์ทรงเสวยวิมุติสุข ณ มุจลินทพฤกษ์ (ไม้จิก) อันประดิษฐานทางปราจีนทิศแห่งมหาโพธิพฤกษ์ประทับกระทำสมาธิอยู่ภายใต้ร่มไม้นั้นเป็นเวลา 7 วัน 

ในกาลนั้นฝนได้ตกพรำอยู่ตลอด 7 วัน พญานาคมีนามว่า “มุจลินทร์นาคราช” มีอานุภาพมากอยู่ในสระโบกขรณี ใกล้ต้นมุจลินท์นั้น มีความเลื่อมใสในพระศิริวิลาส พร้อมทั้งพระฉัพพรรณรังสีของพระพุทธองค์ เกรงว่าพระพุทธองค์จะเปียกฝน จึงขนดกายเป็น 7 รอบ แวดวงองค์พระศาสดาแล้วแผ่พังพานอันใหญ่ ปกป้องเบื้องบนพระอุตมังคศิโรตม์ หวังประโยชน์จะไม่ให้ฝนมากระทบต้องพระวรกาย

ครั้นล่วง 7 วันแล้ว ฝนหายขาด พญานาคก็คลายขนด จำแลงกายเป็นมาณพเข้าไปถวายอัญชลีเฉพาะพระพักตร์ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า “ความสงัดเป็นสุข สำหรับบุคคลผู้มีธรรมอันเห็นแล้วยินดีอยู่ในที่อันสงัด รู้เห็นตามความเป็นจริง ความไม่เบียดเบียน ความสำรวมในเหล่าสัตว์ทั้งหลาย ความไม่พยาบาทปราศจากราคาทิกิเลส เหตุล่วงเสียซึ่งกามสุขในโลกนี้ และขจัดเสียซึ่งราคี คืออัสมิมานะ ละขาดจากสันดานและสุขอันนั้น ก็จะได้รับบรมสุขเกษมสันต์ประเสริฐโดยแท้”

เมื่อเปล่งวาจาดังนี้แล้วก็ลุกจากโคนต้นมุจลินท์ไปสู่โคนไม้เกด

ข้อพิจารณา ในเนื้อหานั้นนาคราช ขนดกายรอบองค์พระศาสดา 7 รอบ และแผ่พังพานใหญ่ปกป้องเบื้องบนพระอุตมังคสิโรตม์ (ศีรษะ) (หากพิจารณาข้อความดังกล่าว แสดงว่า พระวรกายของพระพุทธเจ้าจะถูกบังด้วยขนด คงมองเห็นเพียงพระวรกายส่วนพระอุระ (อก) ขึ้นไปเท่านั้น แต่ภาพที่ปรากฏพระพุทธองค์จะนั่งบนขนดนาคราช) สำหรับเศียรที่แผ่พังพานนั้น มีเพียงเศียรเดียวเท่านั้นภายหลังนักจิตรกรรมหรือประติมากรรม มักวาดหรือปั้นให้เป็น 7 เศียรบ้าง 9 เศียรบ้าง

เข้าใจว่าน่าจะเป็นการวาดหรือปั้นให้เป็นธรรมาธิษฐานดังนี้

7 เศียร อาจเกิดมาจากความเชื่อที่ว่าเลข 7 มีส่วนเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าในวาระสำคัญ เช่นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน เช่น ในวันประสูติ พระพุทธเจ้า ทรงดำเนินได้ 7 ก้าว เมื่อเสด็จออกผนวชแสวงหาทางพ้นทุกข์ ได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ในปีที่ 7 หลังตรัสรู้แล้ว ทรงใช้เวลา 7 สัปดาห์ เสวยวิมุตติสุขบริเวณอัสสัตถโพธิ์พฤกษ์ที่ตรัสรู้ทั้งหมด 7 แห่ง แห่งละ 7 วัน เมื่อมีพระชนมายุ 80 พรรษา ได้เสด็จดับขันธปรินิพพาน และเมื่อประมุขเจ้ามัลละจะทรงพยายามจุดไฟที่จิตกาธานเพื่อถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ แต่ไม่อาจจุดไฟให้ติดได้ แต่ทันทีที่พระมหากัสสปะได้เดินทางมาถึงและได้ถวายอภิวาทพระยุคลบาทพระพุทธเจ้าด้วยเศียรเกล้าเรียบร้อย จิตกาธานก็ติดไฟลุกโพลงขึ้นเองอย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งวันนั้นนับเป็นวันเสด็จดับขันธปรินิพพาน ครบ 7 วันบริบูรณ์ เป็นต้น

เหตุการณ์มหัศจรรย์ผูกพันกับตัวเลข จึงมีอิทธิพลต่อคติความเชื่อและนำเลข 7 มาบูรณาการต่อบุคคล เหตุการณ์และผลงานการกระทำของคนในเรื่องต่าง ๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน
7 เศียร หมายถึง วิสุทธิ 7 ประการ (ศีลวิสุทธิ จิตตวิสุทธิ ทิฏฐิวิสุทธิ กังขาวิตรณวิสุทธิ มัคคมัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ญาณทัสสนวิสุทธิ) อันเป็นธรรมเครื่องแสดงความหมดจด ความบริสุทธิ์ที่สูงขึ้นไปเป็นขั้น ๆ โดยลำดับจนบรรลุจุดหมายคือนิพพาน ดุจรถ 7 ผลัดส่งต่อกันในบุคคลถึงที่หมายฉะนั้น

9 เศียร อาจเกิดมาจากความเชื่อที่ว่าเลข 9 เป็นตัวเลขมงคล มีคำพ้องเสียงกับคำว่า ก้าว หมายถึงความเจริญก้าวหน้า อันเป็นสิริมงคลต่อชีวิตของบุคคล

9 เศียร หมายถึง โลกุตรธรรม 9 ประการ อันเป็นธรรมขั้นสูงในพระพุทธศาสนา ได้แก่ มรรค 4 ผล 4 และนิพพาน 1

ดังนั้น หากไม่นับเป็นเรื่องปาฏิหาริย์ของผู้ที่มีบุญบารมีเต็มเปี่ยมแล้ว ก็คงมุ่งเป็นธรรมาธิษฐาน ซึ่งความหมายก็แล้วแต่ท่านผู้รู้จะตีความ ทั้งนี้โดยมีจุดมุ่งคือการถวายพระเกียรติคุณเป็นพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติทั้งสิ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น