วันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2555

นางพญา

พระพิมพ์สามเหลี่ยม หนึ่งในชุดเบญจภาคีพระยอดนิยม เหมาะมากสำหรับอาราธนาขึ้นคอทั้งสุภาพบุรุษ สุภาพสตรี และเด็ก เพราะองค์มีขนาดเล็กกะทัดรัด วงการพระเรียกขาน "พระนางพญา"

พระนางพญา เป็นพระกรุพระเก่าเนื้อดินเผามีอยู่ด้วยกันหลายพิมพ์ พิมพ์ที่นิยมที่สุดก็คือ พิมพ์เข่าโค้ง รองมาก็พิมพ์เข่าตรง, พิมพ์อกนูนใหญ่, พิมพ์สังฆาฏิ, พิมพ์เทวดาหรือพิมพ์อกแฟบ และพิมพ์อกนูนเล็ก
หากจะเอ่ยถึงพระนางพญา ต้องไล่ที่ต้นกำเนิดก่อน "วัดนางพญา" ตั้งอยู่หลังวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก ต่อจากวัดราชบูรณะ ไปทางด้านทิศตะวันออกและอยู่ในพื้นที่อาณาเขตต่อเชื่อมกัน จะว่าทั้งสองวัดนี้สร้างในพื้นที่เดียวกันก็ว่าได้
วัดราชบูรณะ มีอาณาเขตกว้างขวาง ส่วนวัดนางพญาอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของวัดราชบูรณะ ซึ่งเป็นวัดที่มีอาณาเขตเล็กกว่าวัดราชบูรณะ โบราณวัตถุต่างๆ ไม่ปรากฏเหลืออยู่ นอกจากวิหาร ซึ่งเข้าใจว่าซ่อมแซมขึ้นใหม่ และตัววัดก็เป็นสิ่งก่อสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งสิ้น วัดนางพญา เป็นวัดที่สำคัญขึ้นมา และเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น ตอนที่ พระกรุวัดนางพญา แตกกรุออกมา สันนิษฐานว่าเป็นวัด และพระเครื่องที่สร้างมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา และเป็นวัดที่พระมเหสีของพระมหากษัตริย์เป็นผู้สร้างวัดนี้ไว้คู่กับวัดราชบูรณะ โดยจะเห็นว่ามีวัดราชบูรณะซึ่งเป็นวัดที่พระมหากษัตริย์สร้างอยู่ติดกัน 

จากประวัติศาสตร์พระมหากษัตริย์ที่ครองกรุงศรีอยุธยา และเคยประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลกนั้นก็มีอยู่หลายพระองค์ แต่พระมหากษัตริย์ที่ทรงสร้างวัดราชบูรณะนั้นน่าจะเป็น พระมหาธรรมราชา เพราะทรงครองเมืองพิษณุโลกอยู่เป็นเวลา 21 ปี คือตั้งแต่ต้นรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ 

ถ้าพระมหาธรรมราชา ทรงสร้างวัดราชบูรณะ 
ผู้ที่สร้างวัดนางพญาก็ต้องเป็น "พระวิสุทธิกษัตรีย์อัครมเหสี"

ถ้าเคยดูหนังเรื่องพระศรีสุริโยทัย คงจะรู้ว่าพระวิสุทธิกษัตรีย์ ก็คือพระราชธิดาของสมเด็จพระศรีสุริโยทัย และทรงเป็นพระราชมารดาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ

พระเครื่องที่พบในกรุวัดนางพญา เท่าที่พบมีอย่างเดียวคือ 'พระนางพญา' และเป็นพระที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากเป็นที่นิยมอยู่ในชุดเบญจภาคี การขุดพบพระครั้งแรกเมื่อปี 2444 กรุพระนางพญา เป็นซากปรักหักพังฝังจมดินอยู่บริเวณด้านหน้าของวัด การที่พบก็เพราะเหตุที่ทางวัดดำริจะปลูกสร้างศาลาเล็กๆ ขึ้นตรงบริเวณนั้น ครั้นพอขุดหลุมจะลงเสาศาล ก็ได้พบพระนางพญาจำนวนมากฝังจมดินอยู่กับซากกรุ และได้เก็บรวบรวมไว้ที่วัดนางพญานั่นเอง

ต่อมาได้มีการขุดพบพระนางพญาอีกเมื่อปี 2487 แต่ก็มีจำนวนไม่มากนัก
พระนางพญาพิษณุโลก พิมพ์ที่นิยมกันมากๆ ก็คือพิมพ์เข่าโค้งและพิมพ์เข่าตรง พระทั้งสองพิมพ์นี้มีขนาดไล่เลี่ยกัน และสำหรับพิมพ์เข่าตรงเองก็ยังจำแนกออกเป็นสองพิมพ์ คือพิมพ์เข่าตรง และพิมพ์เข่าตรง (มือตกเข่า) ซึ่งมีลักษณะและขนาดใกล้เคียงกันอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น