วันพฤหัสบดีที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2555

หลวงปู่นาม วัดน้อยชมภู่ สุพรรณบุรี เกจิผู้เข้มขลัง


ชาวบ้านต่างเรียกขานท่านว่า "หลวงปู่นาม"  ปัจจุบันสมณศักดิ์ พระครูสุวรรณศาสนคุณ สิริอายุ 91 ปี ดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาส วัดน้อยชมภู่ ต.บ้านกร่าง อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี

มีนามเดิมว่า นาม มณีวงศ์ ถือกำเนิด เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๔ ปีจอ เป็นชาวสุพรรณโดยกำเนิด โยมพ่อชื่อ บัว มณีวงศ์ โยมแม่ชื่อ สา มณีวงศ์

วัยเด็กดำเนินตามประสาธรรมดาทั่วไป ช่วยพ่อแม่ทำนา ประกอบกับการมาเรียนหนังสือ กับหลวงปู่เหมือน ที่วัดน้อยชมภู่ ทั้งอักขระขอม-ไทย และฟังธรรมะ คำสอน ของหลวงปู่เหมือน ทำให้มีใจอ่อนน้อม เลื่อมใสในพุทธศาสนา มาตั้งแต่เล็ก

เมื่ออายุครบบวช อุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดบ้านกร่าง พระเมธีธรรมสาร ( ไสว ) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระปลัดทวี (หลานหลวงพ่อมุ่ย) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการ สวงศ์ เป็นพระอนุศาสนาจารย์ ภายหลังอุปสมบทศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย สอบได้นักธรรมเอกตามลำดับ อีกทั้งยังสามารถท่องจำพระปาฎิโมกข์ ได้อีกด้วย

ต่อมาได้ฝากตัวเป็นศิษย์เรียนวิทยาคม กับหลวงพ่อไสว ควบคู่ไปกับการศึกษามูลกัจจายน์ บาลี อักษรขอม ไทย ทำให้มีความรู้แตกฉานในด้านนี้

ดังนั้นหลวงปู่นาม จึงได้สืบทอดพุทธาคมในสายวิชานี้มาอย่างเอกอุ ทั้งในด้านการเจริญสมถะ วิปัสสนากรรมฐาน การอธิฐานจิตเสกพระ

จากนั้นจึงได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดน้อยชมภู่ เรียนอาคม กับหลวงปู่ขำ หลวงปู่เหมือน ซึ่งหลวงปู่ขำ ท่านเป็นพระอภิญญา สหธรรมมิกศึกษาแลกเปลี่ยนวิชา กับหลวงพ่อเนียม วัดน้อย ( ศิษย์สมเด็จโต) หลวงปู่เฒ่า วัดค้างคาว

หลวงปู่นามเล่าว่า หลวงปู่ขำท่านสามารถเสกพระให้เต็มวัด เพื่อไล่ขโมย เป่าไม้รวกให้มียันต์อยู่ข้างใน หลวงปู่เหมือนได้ถ่ายทอดสรรพวิชาในสายหลวงปู่ขำ ให้ท่านอย่างไม่มีปิดบัง กล่าวกันว่า หลวงปู่เหมือน ท่านเสกต่อแตนให้เต็มวัดได้ เสกใบมะขามเป็นฝูงผึ้ง เพื่อไล่ลิงได้ รู้เหตุการณ์ล่วงหน้า วาจาศักดิ์สิทธิ์

หลวงปู่นามได้รับถ่ายทอด วิชาในสายหลวงปู่ขำหลวงปู่เหมือนมาเต็มภูมิ และยังได้รับสืบทอดให้เก็บรักษา ไม้เท้าศักดิ์สิทธ์ของหลวงปู่ขำเอาไว้ มีอายุเกือบสองร้อยปี สมัยหลวงปู่ขำยังอยู่ เสกพระให้เต็มวัดก็ใช้ไม้เท้าอันนี้ ทำน้ำมนต์ เสกต่อแตน ไล่ผี แก้คุณไสย เคาะหัวลงกระหม่อม รักษาโรค หรือบอกหวย ก็ใช้ไม้เท้านี้

หลวงปู่นาม ยังได้ไปจำพรรษาอยู่วัดระฆังหลายครา เพื่อศึกษาวิชา โดยฝากตัวเป็นศิษย์รับใช้ พระธรรมธาดาจารย์ (หลวงปู่แนบ) 

กล่าวถึงเจ้าคุณแนบ ท่านเป็นพระเกจิคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้นมาก ด้วยท่านได้สืบทอดพุทธาคมในสายสมเด็จพระพุฒาจารย์โต เมื่อปี พ. ศ.๒๔๘๕ วัดราชบพิธ ได้ทำพิธีปลุกเสกใหญ่ มีพระเกจิอาจารย์ระดับแนวหน้าของประเทศ อาทิ หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม หลวงพ่อจาด วัดบางกะเบา หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหืบ หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก หลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ หลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก อีกทั้งยังนิมนต์เจ้าคุณแนบ ไปอธิฐานจิตในครั้งนั้นด้วย

เจ้าคุณแนบรักเอ็นดูหลวงปู่นามมาก สั่งสอนบอกวิชาไม่มีปกปิด ก่อนที่ท่านจะมรณภาพ ยังได้มอบ "ตาฤาษี" ชึ่งได้รับตกทอดมาตั้งแต่ยุคสมเด็จโตให้หลวงปู่นามเก็บรักษาไว้ ด้วย ท่านเห็นว่าศิษย์ผู้นี้ มีบารมีมาก ต่อไปภายภาคหน้าจะเป็นที่พึ่งของสาธุชนทั้งหลาย

จากนั้นท่านได้ฝากตัวเป็นศิษย์ หลวงปู่นาค วัดระฆัง ระหว่างอยู่วัดระฆังท่านสนิทกับเจ้าคุณผัน เจ้าคุณเที่ยง มาก เจ้าคุณทั้งสอง เรียกหลวงปู่นาม ว่า“ หลวงพี่ ” ตลอดมา

เมื่อกลับมาอยู่วัดน้อย ท่านได้ยินชื่อเสียงหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า โด่งดังมาก แม้แต่กรมหลวงชุมพร ยังได้ฝากตัวเป็นศิษย์ ท่านได้เดินทางไปยังสำนัก วัดอู่ทอง ปากคลองมะขามเฒ่า ฝากตัวเป็นศิษย์ศึกษาเล่าเรียนวิชาในสายหลวงปู่ศุข เกสโร กับหลวงพ่อสำราญ หลายวัน

หลวงพ่อสำราญปกติท่านจะดุมาก แต่กลับเมตตาถูกอัธยาศัย กับหลวงปู่นาม ก่อนจะลากลับ ท่านได้มอบพระพุทธรูปเก่า สมัยหลวงปู่ศุข ให้หลวงปู่นาม ปัจจุบันยังเก็บรักษาไว้ที่กุฎิของท่าน

ที่สำคัญหลวงปู่ยังมีความสนิทสนมถูกอัธยาศัย กับหลวงพ่อมุ่ย วัดดอนไร่ พระเกจิชื่อดังเมืองสุพรรณอีกรูปหนึ่ง ท่านได้เรียนวิชาต่างๆ ในสายหลวงปู่ศุข เพิ่มเติม อีกทั้งยังฝึกวาโยกสิณ เพื่อเสกตะกรุตให้ม้วนเอง และวิชาต่างๆ หลวงปู่ท่านจะมานอนคุยกับหลวงพ่อมุ่ย บ่อยครั้ง เพื่อศึกษาแลกเปลี่ยนวิชากัน

ส่วนหลวงพ่อแต้ม วัดพระลอย ศิษย์หลวงพ่อ ปาน วัดบางนมโค ก็มีความสนิทสนมกับหลวงปู่เป็นอย่างมาก หลวงปู่ท่านยังเคยไปอยู่กับท่าน เพื่อศึกษาในสายหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ทั้งยังเดินทางไปมาหาสู่ เรียนวิชากับ หลวงปู่คำ วัดหน่อพุทธางกุล หลวงพ่อโบ้ย วัดมะนาว หลวงพ่อถิร วัดป่าเลไลย์ หลวงพ่อนุ่ม วัดนางใน เรื่อยมา

หลวงปู่นาม ยังเป็นสหธรรมิกกับพระเกจิที่มีชื่อเสียงเมืองสุพรรณหลายรูป อาทิ หลวงพ่อจวน วัดไก่เตี้ย หลวงพ่อฮวด วัดดอนโพธิ์ทอง หลวงพ่อดี วัดพระรูป หลวงพ่อปลื้ม วัดสวนหงส์ หลวงพ่อพล วัดวังยายหุ่น ท่านเหล่านี้ล้วนสนิทชอบพอกันดีกับหลวงปู่ ศึกษาแลกเปลี่ยนวิชาบ่อยครั้ง และยังเคยร่วมเสกพระหลายครั้งด้วยกัน

เมื่อหลวงปู่ได้ศึกษาพระธรรมวินัย วิชาอาคมต่างๆในด้านพระปริยัติ เป็นที่พอใจแล้ว ท่านจึงได้กราบลาครูบาอาจารย์ ออกปฏิบัติธุดงค์ หาความสงบเงียบเพื่อเหมาะแก่การเจริญพระกรรมฐาน ฝึกจิตเจริญภาวนาปฏิบัติธรรม และฝึกฝนวิชาอาคม ท่านได้เดินลัดเลาะตามป่าขึ้นไปปักกรดอยู่ที่ยอดเขากระเสียว ซึ่งชาวบ้านก็ห้ามท่านไว้ เพราะบนเขานั้นมีงูพิษ และสัตว์ป่าดุร้าย ชุม แต่ก็ห้ามท่านไม่ได้ ด้วยวิชาอาคมของท่าน สัตว์ทั้งหลายไม่สามารถทำอันตรายท่านได้เลย จากนั้นจึงเดินธุดงค์ต่อไปจังหวัดลพบุรี

หลวงปู่ท่านได้ขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาท ที่วัดพระพุทธบาทราชวรวิหาร จ.สระบุรี
ได้ปักกลดจำวัดอยู่หลายคืน จากนั้นจึงเดินทางต่อ เข้าสู่ยังป่าเขาใหญ่ ดงพญาเย็น ซึ่งเมื่อก่อนหลวงปู่เล่าให้ฟังว่า มีเสือ ช้าง งู สัตว์มีพิษ เยอะมากและมีไข้ป่า ภูตผีปีศาจ คุณไสย มนต์ดำ ซึ่งถือว่าพระธุดงค์รูปใด ที่สามารถ เข้าสู่ดงพญาเย็น แล้วเดินทางกลับออกมาได้ ถือว่าพระรูปนั้น มีวิชาอาคมพอตัว หลวงปู่ท่านเดินทางเข้าไปยังเทือกเขานี้ ได้ปักกลดอยู่หลายวัน สัตว์ป่า อาทิ เสือ ช้าง งูและสัตว์มีพิษต่างๆรวมถึงภูตผีปีศาจคุณไสยมนต์ดำ ไม่สามารถทำอันตรายหลวงปู่ได้

ต่อจากนั้นหลวงปู่ได้เดินทางไปหลายแห่งในประเทศ สมความตั้งใจท่านแล้ว 
ท่านจึงได้มาจำพรรษา อยู่ที่วัดน้อยชมภู่ ก่อน พ.ศ.2500 (หลวงปู่ท่านจำไม่ได้)
ต่อจากนั้นท่านได้รับ มอบหมายให้เป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสในปี พ.ศ.2501
พ.ศ.2506 ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าอาวาสวัดน้อยชมภู่ และเป็นพระกรรมวาจาจารย์ 
พ.ศ.2522 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบลวังยาง อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี
พ.ศ.2527 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ 
พ.ศ.2550 ได้รับพระราชทาน สมณศักดิ์ เป็น พระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ที่พระครูสุวรรณศาสนคุณ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น