วันพฤหัสบดีที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2555

หลวงพี่น้ำฝน บรรยายธรรม ณ วิทยาลัยสารพัดช่างสี่พระยา (เอี่ยมลออ)

พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ 
หลวงพี่น้ำฝน บรรยายธรรมในหัวข้อ ความกตัญญูคืออะไร ? พรหมวิหาร 4 ดีอย่างไร! ให้กับนักศึกษาผู้ใหญ่ (ภาคพิเศษ) วิชาชีพระยะสั้น วิทยาลัยสารพัดช่างสี่พระยา (เอี่ยมลออ)

“การศึกษาถือเป็นเรื่องสำคัญของชีวิตมนุษย์ทุกคน และแต่ละคน ต่างก็มีโอกาสที่ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นเมื่อมีโอกาส ประตูสวรรค์เปิดแล้ว หลายคนจึงไม่ควรพลาด ควรฉกฉวยโอกาสสำคัญนี้ไว้ ด้วยการแสวงหา เพื่ออนาคตที่ดีกว่า แต่ถ้าขาดความพร้อม ย่อมจำยอมให้ผ่านไป แต่เมื่อฟ้าใหม่เปิด สวรรค์มาเยือน ก็ยังไม่สายที่จะกลับมาเติมเต็ม รับรู้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเหล่านี้ เพื่อนำไปปรับใช้กับงานหรือธุรกิจที่ทำอยู่ในยุคปัจจุบัน ให้รุ่งโรจน์สืบต่อไป” ธรรมรสจากบางห้วงบางตอนของการบรรยายธรรมะเชิงรุกโดย พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ (หลวงพี่น้ำฝน) ทายาทศิษย์เอกหลวงพ่อพูล ประธานมูลนิธิหลวงพ่อพูล เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม เมื่อวันอังคารที่ 14 สิงหาคม 2555 ณ วิทยาลัยสารพัดช่างสี่พร ะยา สาขาเอี่ยมละออ


ซึ่งในวันดังกล่าว อาจารย์ปิยวรรณ วรวิทย์รัตนกุล ผู้อำนวยการวิทยาลัยฯ ได้นิมนต์พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ บรรยายธรรมให้กับนักศึกษาผู้ใหญ่ (ภาคพิเศษ) ฝึกวิชาชีพระยะสั้น สาขาวิชาพาณิชยกรรม วิชาคอมพิวเตอร์ วิชาคหกรรม วิชาศิลปกรรม เป็นต้น โดยมีนักศึกษาและอาจารย์เข้ารับฟังในครั้งนี้จำนวน 500 คน 

บรรยากาศในการบรรยาย มีพิธีกร คุณบริพันธ์ ชัยภูมิ เป็นผู้ซักถาม เนื่องเพราะผู้ฟังล้วนเป็นผู้ใหญ่ ผ่านร้อนผ่านหนาว บางท่านผ่านชีวิตมาอย่างโชกโชน บางคนเป็นนักธุรกิจ ประสบความสำเร็จในชีวิต แต่ไม่เคยสัมผัสคอมพิวเตอร์ มาเรียนรู้เพื่อปรับตัวให้เข้ากับความเจริญก้าวหน้าทางอุปกรณ์เทคโนโลยี รวมถึงชาวต่างประเทศ มาเรียนวิชาการถ่ายภาพ ซึ่งเขามีเป้าประสงค์ที่จะมาถ่ายรูปเมืองไทย นำไปเผยแพร่ให้ชาวต่างประเทศได้รับรู้ เป็นต้น 

พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หลวงพี่น้ำฝน ได้เกริ่นนำ ความว่า "ไม่มีคำว่าสายสำหรับการเรียนรู้" โดยเฉพาะอายุ ไม่ใช่สาระสำคัญ ในการศึกษาหาความรู้ เพราะความรู้คือประทีป ส่องนำทางไปสู่ความสำเร็จ และคำสำเร็จ จะบริบูรณ์ได้อย่างถาวร ก็ต้องมีความกตัญญูกตเวที

ความกตัญญู คืออะไร หัวใจอยู่ที่ความรู้คุณ หมายถึงความเป็นผู้มีใจกระจ่าง มีสติ มีปัญญาบริบูรณ์ รู้อุปการคุณที่ผู้อื่นกระทำแล้วแก่ตน ผู้ใดก็ตามที่ทำคุณแก่ตนแล้ว ไม่ว่าจะมากก็ตาม น้อยก็ตาม เช่น เลี้ยงดูสั่งสอน ให้ที่พัก ให้งานทำ เป็นต้น ย่อมระลึกถึงด้วยความซาบซึ้งอยู่เสมอ ไม่ลืมอุปการคุณนั้นเลย

อีกนัยหนึ่ง ความกตัญญู หมายถึง ความรู้บุญ หรือรู้อุปการะของบุญที่ตนทำไว้แล้ว รู้ว่าที่ตนเองพ้นจากภัยอันตรายทั้งหลายได้ดีมีสุขอยู่ในปัจจุบัน ก็เพราะบุญทั้งหลายที่เคยทำไว้ในอดีตส่งผลให้ จึงไม่ลืมอุปการะของบุญนั้นเลย และสร้างสมบุญใหม่ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

กตัญญู จึงหมายถึง การรู้จักบุญคุณ อะไรก็ตามที่เป็นบุญ หรือมีคุณต่อตน แล้วก็ตามระลึกนึกถึงด้วยความซาบซึ้งไม่ลืมเลย คนมีกตัญญูถึงแม้จะนัยน์ตาบอดมืดทั้งสองข้าง แต่ใจของเขาใสกระจ่างยิ่งกว่าดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ รวมกันเสียอีก

ความกตัญญูในทางพระพุทธศาสนาประกอบด้วย ความขยัน ซื่อสัตย์ อดทน และรู้บุญคุณคน

- ขยัน คือ ขยันเรียน ขยันทำงาน ขยันทำความดี

- ซื่อสัตย์ คือ เรียนด้วยความตั้งใจ ไม่ลอกเพื่อน ไม่ลอกข้อสอบ ทำงานด้วยความซื่อสัตย์ ไม่คดโกง ไม่ทุจริต

- อดทน คือ เรียนด้วยความมุมานะ ไม่ท้อถอย ยากง่ายอย่างไรก็สู้ อุตสาหะ ทำงานด้วยหัวใจแห่งผู้กล้า ผู้แกร่ง ไม่เกรงกลัวศัตรูคือกิเลส ความชั่ว ฟันฝ่าให้ผ่านพ้น

- รู้บุญคุณคน คือ ให้ความรัก ให้ความเมตตาแก่ทุกคน ช่วยเหลือเจือจาน ตอบแทนด้วยความจริงใจ

ความกตัญญูกตเวที ในทางพระพุทธศาสนา สอนให้คนเป็นคนดี คนดีย่อมเป็นที่ปรารถนา ที่ต้องการในที่ทุกหนทุกแห่งในทุกกิจการ และในทุกยุคทุกสมัย คนดีทำให้ครอบครัวเจริญ โรงเรียนเจริญ ชุมชนเจริญ สังคมและประเทศชาติเจริญ

คนดีอยู่ในครอบครัวใด โรงเรียนใดและสังคมใด ครอบครัว โรงเรียน และสังคมนั้นๆ ย่อมมีความสุข

ความกตัญญู คือ คุณสมบัติและสัญลักษณ์ของคนดี รวมเป็นกตัญญูกตเวที เป็นคุณธรรมคู่กันเสมอ เป็นหลักถือปฏิบัติในการดำเนินชีวิตของสัตบุรุษ คือ คนดี หรือคนในอุดมคตินั่นเอง

ในสังคมชาวพุทธ คนมีกตัญญูกตเวทีย่อมเป็นผู้ควรค่าแก่ความรัก เกียรติ ศักดิ์ศรี และการยกย่องสรรเสริญจากผู้อื่น เพราะได้ปฏิบัติธรรมอันถือเป็นมงคลยิ่ง ข้อหนึ่ง คือ ความกตัญญู บุคคลย่อมมีชีวิตประสบแต่ความก้าวหน้าเจริญรุ่งเรือง

ความคิดและความเชื่อตามวัฒนธรรมไทยนั้น สรรเสริญผู้มีความกตัญญูและตำหนิผู้ที่ไม่รู้จักบุญคุณคนอื่นเป็นอย่างมาก

คนไทยมีความเชื่อว่า ผู้ที่มีความกตัญญูต่อพ่อแม่ ครูอาจารย์ จะมีความเจริญรุ่งเรืองประสบความสำเร็จในชีวิต ส่วนผู้ที่เนรคุณนั้นจะประสบความวิบัติเป็นที่รังเกียจในสังคม ได้มีการเปรียบเทียบว่า คนที่เนรคุณนั้น เป็นคนไร้ค่ามีจิตใจกระด้างดังเนื้อหิน เขาจะกรุณาคนอื่นได้อย่างไรในเมื่อคนที่มีบุญคุณต่อเขา ยังทำให้เขาสำนึกไม่ได้

กตัญญู เป็นธรรมอันเป็นมงคลที่ 25 ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้โดยเน้นให้นำไปพัฒนาคุณสมบัติของคนดีแปลตามตัวหนังสือคือ ผู้รู้ว่า คนอื่นทำความความดีอะไรไว้แก่ตนบ้าง เอาความหมายสั้นๆ ว่า "ผู้รู้คุณคน" การรู้บุญคุณคนหรือรู้อุปการคุณที่ผู้อื่นทำให้ตนเองนับถือเป็นหลักแห่งความยุติธรรมและความเป็นธรรมอย่างหนึ่งในสังคมมนุษย์ เพราะเป็นการสอดคล้องกับหลักคำสอนว่า การทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้นั่นเอง 


จากนั้น พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หลวงพี่น้ำฝน ได้ทิ้งท้าย ให้ธรรมะเรื่องพรหมวิหาร 4 แก่นักศึกษา โดยท่านได้ระบุว่า พรหมวิหาร 4 มีความยิ่งต่อพวกเราทุกคน และก่อนอื่นเราต้องรู้ว่าพรหมวิหาร แปลว่าอะไร 

พรหมวิหาร คือ ธรรมของพรหม หรือของท่านผู้เป็นใหญ่ พรหมวิหารเป็นหลักธรรมสำหรับทุกคน เป็นหลักธรรมประจำใจที่จะช่วยให้เราดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างประเสริฐและบริสุทธิ์ หลักธรรมนี้ได้แก่ 

- เมตตา ความปราถนาให้ผู้อื่นได้รับสุข ความสุขเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา ความสุขเกิดขึ้นได้ทั้งกายและใจ เช่น ความสุขเกิดการมีทรัพย์ ความสุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์เพื่อการบริโภค ความสุขเกิดจากการไม่เป็นหนี้ และความสุขเกิดจากการทำงานที่ปราศจากโทษ เป็นต้น

- กรุณา ความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ ความทุกข์ คือ สิ่งที่เข้ามาเบียดเบียนให้เกิดความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ และเกิดขึ้นจากปัจจัยหลายประการด้วยกัน พระพุทธองค์ทรงสรุปไว้ว่าความทุกข์มี 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ทุกข์โดยสภาวะ หรือเกิดจากเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของร่างกาย เช่น การเกิด การเจ็บไข้ ความแก่และความตายสิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่เกิดมาในโลกจะต้องประสบกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งรวมเรียกว่า กายิกทุกข์ 

ทุกข์จร หรือทุกข์ทางใจ อันเป็นความทุกข์ที่เกิดจากสาเหตุที่อยู่นอกตัวเรา เช่น เมื่อปรารถนาแล้วไม่สมหวังก็เป็นทุกข์ การประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ รวมเรียกว่า เจตสิกทุกข์

- มุทิตา ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี คำว่า "ดี" ในที่นี้ หมายถึง การมีความสุขหรือมีความเจริญก้าวหน้า ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดีจึงหมายถึง ความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุขความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆขึ้น ไม่มีจิตใจริษยา ความริษยา คือ ความไม่สบายใจ ความโกรธ ความฟุ้งซ่านซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดีกว่าตน เช่น เห็นเพื่อนแต่งตัวเรียบร้อยแล้วครูชมเชยก็เกิดความริษยาจึงแกล้งเอาเศษชอล์ก โคลน หรือหมึกไปป้ายตามเสื้อกางเกงของเพื่อนนักเรียนคนนั้นให้สกปรกเลอะเทอะ เราต้องหมั่นฝึกหัดตนให้เป็นคนที่มีมุทิตา เพราะจะสร้างไมตรีและผูกมิตรกับผู้อื่นได้ง่ายและลึกซึ้ง

- อุเบกขา การรู้จักวางเฉย หมายถึง การวางใจเป็นกลางเพราะพิจารณาเห็นว่า ใครทำดีย่อมได้ดี ใครทำชั่วย่อมได้ชั่ว ตามกฎแห่งกรรม คือ ใครทำสิ่งใดไว้สิ่งนั้นย่อมตอบสนองคืนบุคคลผู้กระทำ เมื่อเราเห็นใครได้รับผลกรรมในทางที่เป็นโทษเราก็ไม่ควรดีใจหรือคิดซ้ำเติมเขาในเรื่องที่เกิดขึ้น เราควรมีความปรารถนาดี คือพยายามช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ในลักษณะที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม

และทั้งหมดนี้ คือธรรมะที่ พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ (หลวงพี่น้ำฝน) นำมามอบให้กับนักศึกษาผู้ใหญ่ ที่ได้มาฝึกศึกษาวิชาชีพระยะสั้น ณ วิทยาลัยสารพัดช่างสี่พระยา สาขาเอี่ยมละออ ได้ซึมซับรับรู้ นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน และประกอบอาชีพการงาน สานต่อเป็นคนคุณภาพ เป็นตัวอย่างที่ดีให้คนรุ่นหลังสืบต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น