ศรัทธา ความเชื่อ มีหลายระดับชั้น แต่ในที่นี้จะพูดถึงหลักความเชื่อ 4 ประการ ที่ควรศึกษาเพื่อเป็นแนวทางในการสร้างความสุข คือ
- ความเชื่อกรรม คือ เชื่อเรื่องการกระทำที่เกิดขึ้นทางกาย วาจา ใจ ว่ามีทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว การทำชั่วทางกายเรียกกายทุจริต ทางวาจาเรียกวจีทุจริต ทางใจเรียกมโนทุจริต ส่วนการทำดีทางกายเรียกกายสุจริต ทาง วาจาเรียกวจีสุจริต ทางใจเรียกมโนสุจริต เป็นความมั่นใจในการกระทำอย่างชัดเจน เหมือนเข็มทิศสำหรับนำพาไปสู่ทิศต่างๆ ความเชื่อด้านนี้ก็จะนำไปสู่การกระทำต่อไป
- ความเชื่อผลแห่งกรรม คือ เชื่อว่าการกระทำทั้งกาย วาจา ใจ จะต้องมีผลจากการกระทำนั้นอย่างแน่นอน และไม่มีอะไรสามารถเปลี่ยนแปลงผลของมันได้ กล่าวคือ ถ้าทำไม่ดี ก็ย่อมได้รับผลกรรมจากความทุกข์ แต่ถ้าทำดี ก็ย่อมได้รับผลเป็นความสุข มีผลทั้งในชาตินี้และชาติหน้า
- ความเชื่อว่าทุกคนมีการกระทำเป็นของตนเอง คือ ความเชื่อที่ตอกย้ำลงไปว่า เมื่อทำดีย่อมได้รับผลดี เมื่อกระทำชั่วก็ย่อมได้รับผมชั่วนั้นตอบสนอง คือ ย่อมจะได้รับผลกรรมนั้นเป็นของตนเองแน่นอน เปรียบกับหว่านพืชผลเช่นใด ก็ได้ผลเช่นนั้น ผู้ทำดีย่อมได้ดี ผู้ทำชั่วย่อมได้ชั่ว โดยที่ไม่มีผู้ใดสามารถทำกรรมแทนกันได้ ทุกคนล้วนได้รับผลกรรมที่ตนทำขึ้นทุกอย่าง ไม่มีงดเว้น เบี่ยงเบนออกไป
- เชื่อในความรู้ของพระพุทธเจ้า คือ เชื่อในพระปัญญาของพระองค์ที่ทรงค้นพบหลักธรรมแล้วนำมาประกาศให้ชาวโลกรู้ ตาม มีความมั่นใจในพระองค์ว่าทรงเป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธะ ตรัสธรรมบัญญัติวินัยไว้ด้วยดี ทรงเป็นผู้นำทางที่แสดงให้เห็นว่า หากทุกคนฝึกฝนตนด้วยดี ก็สามารถเข้าถึงภูมิธรรมสูงสุดและหลุดพ้นได้ ดังที่พระองค์ทรงบำเพ็ญไว้เป็นแบบอย่าง
การเชื่อในความรู้ของพระพุทธเจ้า ก็เท่ากับการเชื่อต่อเหตุผลนั่นเอง เพราะพระองค์จะทรงสอนอะไร ก็ล้วนแต่มีเหตุมีผล ซึ่งผู้ฟังทุกคนสามารถนำไปตรึกตรองพิจารณาให้เห็นได้ด้วยตนเอง พระองค์จะคอยตักเตือนเสมอว่า อย่าเชื่อโดยไร้เหตุผล หรือเชื่ออย่างงมงายโดยไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ สอนให้ใช้ความสังเกตในที่ทั่วไป
ศรัทธาจึงเป็นเรื่องน่ากลัว เพราะถ้าศรัทธามัวเมา ไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็จะนำพาให้ปฏิบัติผิด ทำให้ชีวิตได้รับแต่ความทุกข์ ผู้ที่มีศรัทธาตั้งมั่น มีหลักความเชื่อที่ถูกต้องเป็นแกนยึดนั้น ย่อมปฏิบัติตามได้อย่างสอดคล้อง ระมัดระวัง ไม่บุ่มบ่ามย่ามใจ
ดังนั้น การปรับทิศทางความเชื่อให้ประกอบด้วยปัญญา มีความรู้คอยกำกับ เป็นความเชื่อที่ถูกต้อง และตั้งมั่นในความเชื่อที่ถูกต้องนั้น ก็ย่อมทำให้ได้รับความสุขได้ ดังพุทธภาษิตที่ว่า
"ความเชื่อที่ตั้งมั่นแล้ว นำความสุขมาให้"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น