วันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ฟื้นประเพณีสวดมาลัย

นายเกษม มีเสน วัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า การสวดมาลัยเป็นประเพณีประจำงานศพ แต่เดิมพระสงฆ์เป็นผู้สวดโดยจะสวดหลังจากที่สวดพระอภิธรรมเสร็จแล้ว พระที่สวดมีจำนวน 4 รูป หรือ 1 เตียง ใช้ตาลปัตรบังหน้า ใช้บทสวดจาก "หนังสือพระมาลัย" หรือที่เรียกว่า พระมาลัยคำสวด (คำสอน) เนื้อหาเป็นธรรมะสั่งสอนให้ผู้ฟังเกรงกลัวต่อบาป กลัวอกุศลกรรม การสวดมาลัยนอกจากเพื่อสั่งสอนสาธุชน แล้วยังเป็นวิธีการแก้ความเงียบเหงาในขณะเฝ้าศพ และเพื่อให้เจ้าภาพหรือญาติผู้ตายทุเลาความเศร้าโศก แต่ปัจจุบันการสวดมาลัยได้สูญหายไปเกือบหมดแล้วตามยุคสมัย 


ในระยะต่อมาผู้ฟังไม่นิยมกันนัก การสวดมาลัยจึงเปลี่ยนแปลงทั้งในส่วนของผู้สวดและเนื้อหาคือ ผู้สวดแทนที่จะเป็นพระภิกษุเช่นเดิม ก็เปลี่ยนมาเป็นชาวบ้านแทน ส่วนเนื้อหาก็เพิ่มเติมเปลี่ยนแปลง ทำให้การสวดมาลัยเป็นที่นิยมอย่างมากในระยะเวลาหนึ่ง ต่อมาเริ่มสูญหายไปเรื่อยๆ จากความเปลี่ยนแปลงของสังคมในยุคโลกาภิวัตน์ 

สำหรับในส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราช มีคณะสวดมาลัยหลงเหลืออยู่เป็นคณะสุดท้าย คือ คณะครูแก้ว ผลความดี อายุ 90 ปี อาศัยอยู่ที่ชุมชนวัดท้ายสำเภา อ.พระพรหม เป็นคณะที่มีลีลาการแสดงที่น่าสนใจและโดดเด่น มีการผสมผสานกันอย่างลงตัวของผู้แสดงมีการสอดแทรกดนตรี และลีลาในการแสดงทำให้ผู้ชมรู้สึกเพลิดเพลิน เนื้อหาการแสดงเรื่องพระมาลัยมีอิทธิพลเต่อความเชื่อของคนไทย ในเรื่องบาปบุญคุณโทษ เชื่อว่า เมื่อทำบาปก็จะได้รับผลตอบแทนที่ไม่ดี คือ ตกนรก ส่วนเมื่อทำบุญจะได้รับผลตอบแทนที่ดี คือได้ขึ้นสวรรค์ 

ทั้งนี้ จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ให้ดำเนินการสืบสานศิลปะการสวดมาลัย ที่เหลืออยู่เพียงคณะเดียวให้คงอยู่คู่จังหวัดนครศรีธรรมราชสืบไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น