วันพุธที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2555

พระราชวิริยาลังการ (เจ้าคุณแย้ม) ศิษย์ยอดกตัญญู พระอุบาลีคุณูปมาจารย์

“จากเด็กเลี้ยงควาย ลูกชาวนาขนานแท้ กับปริญญา 5 สถาบัน” 

มหาจุฬาฯเชิดชูเกียรติ ถวายปริญญาดอกเตอร์พุทธศาสตร์ 

กว่าจะมาถึงวันนี้ของพระดีที่ชื่อ พระราชวิริยาลังการ หรือที่พวกเราชาวบ้านเรียกขานท่านว่า “เจ้าคุณแย้ม” จนติดปาก!!


ภาพลักษณ์ของท่าน กับการเป็นสมภารวัดไร่ขิงนั้น สาหัสสากรรจ์อยู่มากพอสมควร เนื่องเพราะวัดไร่ขิง เป็นวัดใหญ่ มีภาระให้ต้องอุปถัมภ์ค้ำชูมากมาย ทั้งดูแลพระเณรในจังหวัดนครปฐม โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา หนุนนำเสมอมามิขาดสาย รวมถึงดูแลช่วยเหลือวัดวาอารามที่ยากจนข้นแค้น ที่มาพึ่งบุญญาบารมี “หลวงพ่อวัดไร่ขิง ที่สุดแสนจะศักดิ์สิทธิ์” 

เรื่องราวเฉกเช่นนี้มีมาตั้งแต่ครา พระเดชพระคุณ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ หลวงพ่อปัญญา อินฺทปญฺโญ อดีตสมภารใหญ่ ที่ท่านได้เคยรังสรรค์ไว้ เป็นใบบุญมาตลอด จวบจนละสังขาร ถ่ายทอดมอบมรดกเมตตามาสู่ พระราชวิริยาลังการ เจ้าคุณแย้ม ให้ต่อยอด ส่งเสริม รับภาระต่อไป 

แล้วใครเล่าจะล่วงรู้บ้างว่า เส้นทางชีวิตของทายาทศิษย์เอก พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ หลวงพ่อปัญญา อินฺทปญฺโญ รูปนี้ มีความเป็นมาอย่างน่าสนใจยิ่ง โดยตามอัตตะโนประวัติได้จารึกบันทึกไว้ว่า ท่านเป็นลูกชาวนาโดยกำเนิด จากเด็กเลี้ยงควายพันธุ์แท้ จวบจนก้าวล่วงขึ้นมาสู่สมณศักดิ์ชั้นราช ที่พระราชวิริยาลังการ พวงด้วยปริญญา 5 สถาบันที่ท่านได้รับ นับเป็นเกียรติอย่างสูงส่ง องอาจ ทระนง สมแล้วที่หลวงพ่อพระอุบาลีฯ ท่านหมายมั่นปั้นมือ ให้ปกครองวัดไร่ขิง ด้วยบุญบารมีของหลวงพ่อวัดไร่ขิง จึงทำให้ถือกำเนิด เจ้าคุณรูปนี้ ที่ชาวบ้านกล่าวขานว่า “กราบไหว้ได้อย่างสนิทใจอย่างแท้จริง” 



พระราชวิริยาลังการ นามเดิมของท่านชื่อ แย้ม นามสกุล อินทร์กรุงเก่า เป็นบุตรของนายหยวก อินทร์กรุงเก่า และนางทวี ศรีบุญรอด 

เกิดเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2498 ที่ บ้านคลองรางไทร ตำบลบางภาษี อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม 

ได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 ขณะมีอายุได้ 12 ปี ณ วัดไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม โดยมี พระปัญญาวิมลมุนี (ปัญญา อินฺทปญฺโญ) สมณศักดิ์สุดท้ายที่ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ วัดไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เป็นพระอุปัชฌาย์ 

ต่อมาเมื่ออายุได้ 21 ปี จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดไร่ขิง เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2519 
โดยมี พระปฐมนคราภิรักษ์ (ชุณห์ กิตฺติวณฺโณ) ปัจจุบันดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมเสนานี ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดนครปฐม วัดวังตะกู อำเภอเมืองนครปฐม เป็นพระอุปัชฌาย์ 
พระครูไพศาลคณารักษ์ (ปราณี อินฺทวํโส) ปัจจุบันดำรงสมณศักดิ์ที่ พระพิมลสมณคุณ ที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอสามพราน วัดไร่ขิง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ 
พระครูอุปจิตบุญวัฒน์ (บุญธรรม จารุวณฺโณ) วัดบางเลน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ 
ได้รับฉายาว่า "กิตฺตินฺธโร" 

เส้นทางชีวิตในเพศบรรพชิต โดดเด่นในงานด้านปกครอง มีศักยภาพของความเป็นผู้นำสูง 

พ.ศ. 2534 เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง พระอารามหลวง (พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ที่ 41/2534 ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2534) 
พ.ศ. 2538 เป็นเลขานุการรองเจ้าคณะภาค 14 
พ.ศ. 2538 เป็นพระกรรมวาจาจารย์ 
พ.ศ. 2545 เป็นเลขานุการเจ้าคณะภาค 
14 พ.ศ. 2548 เป็นเจ้าคณะอำเภอพุทธมณฑล 
พ.ศ. 2551 เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง พระอารามหลวง 
พ.ศ. 2551 เป็นเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง พระอารามหลวง (พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ที่ 6/2551 ลงวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2551) 
พ.ศ. 2552 เป็นประธานมูลนิธิ หลวงพ่อวัดไร่ขิง, มูลนิธิเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง), มูลนิธิพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ปัญญา อินฺทปญฺโญ) 

ส่วนงานด้านการศึกษานั้น พระราชวิริยาลังการ (เจ้าคุณแย้ม) ก็ไม่ธรรมดา

พ.ศ. 2520 เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมสำนักเรียนวัดไร่ขิง จนถึงปัจจุบัน 
พ.ศ. 2521 เป็นเลขานุการบริหารโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดไร่ขิง 
พ.ศ. 2522 เป็นอาจารย์สอนวิชาพระพุทธศาสนาโรงเรียนวัดไร่ขิงวิทยา  
พ.ศ. 2523 เป็นอาจารย์อบรมธรรมศึกษาก่อนสอบ ชั้นตรี โท เอก โรงเรียนวัดไร่ขิงวิทยา 
พ.ศ. 2524 เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมสำนักศาสนศึกษาวัดท่าพูด ตำบลไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม 
พ.ศ. 2525 เป็นกรรมการตรวจข้อสอบธรรมสนามหลวงจนถึงปัจจุบัน 
พ.ศ. 2526 เป็นวิทยากรอบรมบาลีก่อนสอบ ภาค 14 วัดไร่ขิง จนถึงปัจจุบัน 
พ.ศ. 2528 เป็นกรรมการตรวจข้อสอบธรรม ชั้นนวกภูมิภาค 14 จนถึงปัจจุบัน 
พ.ศ. 2531 เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม สำนักศาสนศึกษาวัดท่าข้าม ตำบลายชา อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม 
พ.ศ. 2532 เป็นอาจารย์สอนวิชาพิมพ์ดีดภาษาไทย พระภิกษุสามเณร วัดไร่ขิง 
พ.ศ. 2533 เป็นอาจารย์สอนคอมพิวเตอร์ สำนักเรียนวัดไร่ขิง 
พ.ศ. 2534 เป็นอาจารย์สอนวิชาพระพุทธศาสนาโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ตำบลไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม 
พ.ศ. 2534 เป็นอาจารย์สอนอบรมธรรมศึกษาก่อนสอบ ชั้น ตรี โท เอก โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ตำบลไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม 
พ.ศ. 2548 เป็นกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนวัดไร่ขิงวิทยา 
พ.ศ. 2549 เป็นกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนวัดไร่ขิง (สุนทรอุทิศ) 
พ.ศ. 2550 เป็นกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย นครปฐม (พระตำหนักสวนกุหลาบมัธยม) 
พ.ศ. 2551 เป็นกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบมหามงคล 
พ.ศ. 2552 เป็นกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนรัตนโกสินทร์สมโภชบวรนิเวศศาลายา ในพระสังฆราชูปถัมภ์ 

ความโดดเด่นของท่าน ส่งผลให้ได้รับรางวัลเกียรติคุณพิเศษมากมาย อาทิ 

- ได้รับพระราชทานเสาเสมาธรรมจักร ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี 
- รับถวายปริญญาพุทธศาสตร์มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (พธ.ม.) จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย 
- รับถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ปร.ด.กิตติ์) จากวิทยาลัยทองสุข รับถวายปริญญาครุศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐม 
- รับถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ปร.ด.) มหาวิทยาลัยรามคำแหง 

เส้นทางแห่งความสำเร็จ สิ่งที่ตามมาคือ เกียรติยศ ชื่อเสียง ยศถาบรรดาศักดิ์ ที่พระสงฆ์นักทำงาน นักเสียสละ ย่อมภูมิใจอย่างยิ่ง นั่นคือสมณศักดิ์ 

- พ.ศ. 2533 เป็นพระครูวินัยธร ฐานานุกรมของ พระธรรมมหาวีรานุวัตร (ปัญญา อินฺทปญฺโญ) สมณศักดิ์สุดท้ายที่ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ วัดไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม 
- พ.ศ. 2535 รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นโท ในราชทินนามที่ พระครูโสภณปัญญาวุธ 
- พ.ศ. 2540 รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก ในราชทินนามเดิม 
- พ.ศ. 2545 รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นพิเศษ ในราชทินนามเดิม 
- พ.ศ. 2549 รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในราชทินนามที่ พระพิพัฒน์วิริยาภรณ์ สป. ในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี 10 มิถุนายน 2549 
- พ.ศ. 2554 รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามที่ พระราชวิริยาลังการ สุวิธานศาสนกิจ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 7 รอบ 84 พรรษา 

พระราชวิริยาลังการ (เจ้าคุณแย้ม) เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง จ.นครปฐม ท่านได้ชื่อว่า เป็นยอดแห่งพระสงฆ์ ที่มีความกตัญญูกตเวทีอย่างสูง เป็นแบบอย่างที่ดี มิเคยด่างพร้อย 

และที่สำคัญท่านได้ชื่อว่า เป็นพระที่ใฝ่เรียนเพียรศึกษาอย่างน่ายกย่องยิ่ง ถึงวันนี้ท่านก็ยังเรียน และสอน ให้วิชาความรู้ต่อพระเณรในปกครอง และญาติโยมพุทธศาสนิกชน ศิษยานุศิษย์ ด้วยดวงจิตที่มุ่งหวังสืบทอดต่อยอดพระพุทธศาสนาอย่างมิหยุดยั้ง และนี่คือความกตัญญูต่อ “พระพุทธเจ้า” อย่างถ่องแท้!!! 

จวบจนล่าสุดเมื่อเร็วๆนี้ กับพิธีประสาทปริญญายิ่งใหญ่!!! กับครั้งหนึ่งในชีวิต 
ที่มหาจุฬาฯถวาย ปริญญาพุทธศาสตรดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการจัดการเชิงพุทธ
และนี่คือจุดเด่นที่ พระราชวิริยาลังการ (เจ้าคุณแย้ม) มีทั้งวัยวุฒิ และคุณวุฒิ เหมาะสมกับปริญญานี้อย่างดีที่สุด!!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น