วันพุธที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2555

พระปิดตา


พระปิดตา หรือ พระภควัมบดี เป็นคติการสร้างรูปจำลองแห่งพุทธสาวก 
คำว่า "ภควัมบดี" หรือ "ภควัมปติ" ซึ่งแปลว่า ผู้มีความงามละม้ายเหมือนพระผู้มีพระภาคเจ้า
อันเป็นอีกนามหนึ่งของ พระมหาสังกัจจายนะ หนึ่งในพระสาวกผู้ทรงเอตทัคคะ (หมายถึง เป็นเลิศ)


พระมหาสังกัจจายนะ เกิดในวรรณะพราหมณ์ ณ กรุงอุชเชนี มีผิวกายดุจทองคำมาตั้งแต่กำเนิด
จึงได้นามว่า "กาญจนะ" ท่านได้อุปสมบทโดยเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือ พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ 
ท่านมีความเป็นเลิศทางการย่อพระธรรมคัมภีร์ให้สั้นลง และอธิบายความหมายให้ผู้ฟังเข้าใจได้อย่างละเอียดแจ่มแจ้ง ท่านมีรูปร่าง และผิวกายที่งดงามมาก จนได้สมญานามว่า "พระภควัมปติ"

ด้วยความงดงามแห่งรูปกายนี้เอง ก่อให้เกิดความหลงใหลคลั่งไคล้จากฝูงชนทั้งชายหญิงจนเกิดเป็นเรื่องพิพาทกันไม่รู้จักจบสิ้น ทำให้ท่านเกิดสลดสังเวชในใจพิเคราะห์ดูว่าการมีรูปกายงดงามก่อให้เกิดทุกข์มากมาย จึงตั้งสมาธิอธิษฐานเปลี่ยนสรีระรูปร่างกลายเป็นร่างต่ำเตี้ย อุทรพลุ้ย ศีรษะใหญ่ ขาสั้น อันเป็นลักษณะของ "พระสังกัจจายน์" ที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน แต่ถึงแม้จะอธิษฐานเปลี่ยนสรีระแล้ว ผลแห่งกุศลในอดีตชาติยังส่งให้ท่านเป็นที่รักใคร่นิยมยินดี มีแต่ผู้ให้ลาภสักการะสรรเสริญตลอดมามิมีขาด

ด้วยความนิยมในพุทธสาวกรูปนี้ โบราณาจารย์จึงได้จำลองลักษณะแห่งพระภควัมบดีในรูปพระเครื่องศักดิ์สิทธิ์อันเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นในหลายลักษณะ อาทิ 

พระสังกัจจายน์ อันเป็นที่รักใคร่นิยมยินดี เปี่ยมไปด้วยลาภสักการะสรรเสริญ 
พระปิดตาทวารทั้ง 9 อันเป็นการปิดกั้นอาสวะกิเลสแห่งทวารเข้าออกทั้ง 9 ของร่างกาย 
พระปิดตามหาอุด อันเป็นการป้องกันสรรพภยันตรายทั้งหลายทั้งปวง 

ส่วนวัตถุมวลสารที่นำมาประกอบเป็นองค์พระก็จะมีทั้งเนื้อชินตะกั่ว เนื้อผงคลุกรัก เนื้อผงใบลาน เนื้อผงมวลสาร เนื้อสัมฤทธิ์ เนื้อเมฆพัด เนื้อเมฆสิทธิ์ เป็นต้น

ในกระบวนพระปิดตาของพระเกจิอาจารย์แต่โบร่ำโบราณที่ยอมรับกันว่าเป็นหนึ่งในสุดยอดพระปิดตาด้วยกันก็คือ "พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์"



หลวงพ่อแก้ว ถือกำเนิดจากครอบครัวชาวประมงจังหวัดเพชรบุรี ในราวปลายรัชกาลที่ 2 บางตำนานระบุว่า ท่านเป็นคนบ้านบางแก้ว อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ได้อุปสมบทที่วัดพระทรง จ.เพชรบุรี ก่อนที่จะธุดงค์ไปบูรณะวัดเครือวัลย์ แขวงบางปลาสร้อย จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของสุดยอดพระปิดตาอันดับหนึ่งของประเทศไทย

พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว เนื้อผงคลุกรัก หรือจุ่มรัก นับเป็นราชาแห่งพระปิดตาเนื้อผง สูงด้วยความนิยมและมูลค่า โดยเฉพาะคำร่ำลือทางด้านเสน่ห์ และเมตตามหานิยม ซึ่งเล่าขานสืบทอดกันมาว่า ในการจัดสร้างพระปิดตาของหลวงพ่อนั้น มีเศษผงที่เหลือจากการจัดสร้างปลิวไปตกในตุ่มน้ำ สาวแก่แม่ม่ายที่วักน้ำลูบเนื้อตัวให้เป็นอันต้องมนต์ลุ่มหลงเกิดเสน่หาถ้วนทั่วทุกตัวตน จนมีผู้พยายามขูดเนื้อขององค์พระปิดตา เพื่อนำไปใช้ล่อหลอกหญิงสาวจนเกิดเรื่องราวกันมาแล้วมากมาย หลวงพ่อแก้วท่านจึงดำริให้นำพระมาจุ่มรักหรือคลุกรักเสีย เพื่อมิให้ผู้ใดขูดนำไปใช้ในทางมิชอบ ซึ่งผงคลุกรักนี้แบ่งออกได้เป็น 3 พิมพ์ คือ

1.พิมพ์ใหญ่ ให้สังเกตจะเห็นกำไลข้อพระบาทและส้นพระบาท สะดือจะนูนขึ้นมาเล็กน้อย พิมพ์ด้านหลังทั้งหลังแบบ หลังเรียบ และหลังยันต์ (อุทับถม) การที่สร้างเป็นหลังแบบนั้น ด้านหลังเป็นรูปองค์พระเหมือนด้านหน้ากดเว้าลึกลงไป พระเศียรด้านหลังที่เว้าลึกจะไม่ลึกมาก และจะรีคล้ายไข่เป็ด สำหรับองค์ที่ติดชัดจะเห็นนิ้วขึ้นเป็นไรๆ บริเวณพระหัตถ์ทั้งสองข้าง ส่วนหลังยันต์พบน้อยมาก
 2.พิมพ์กลาง หลังแบบ หลังเรียบ หลังยันต์
 3.พิมพ์เล็ก

เนื้อของพระปิดตาหลวงพ่อแก้ว ส่วนมากที่พบจะเป็นเนื้อละเอียด และมักปรากฏเม็ดสีน้ำตาล สีแดง ซึ่งเกิดจาก "ว่าน" ขึ้นประปราย ถ้าหากลึกเนื้อในจะละเอียดเป็นสีน้ำตาลอมดำ คนโบราณเรียก หลวงพ่อแก้วเนื้อกะลา เพราะจะเห็นเป็นจุดเล็กๆ คล้ายกะลาเก่าขัดมัน บางองค์มีการปิดทอง ซึ่งต้องดูทองเก่าให้เป็น เพราะทองเก่าเนื้อจะออกสีแดงอมเหลืองและด้าน ไม่เหมือนกับทองใหม่ซึ่งจะเป็นมันวาว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น